ภาพกิจกรรม ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 2 (นครราชสีมา) นำคณะนักลงทุนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างร่วมกิจกรรมชักจูงการลงทุน ในประเทศเพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายแก่ผู้ประกอบการไทย ระหว่างวันที่ 6 - 9 กันยายน 2565

19 กันยายน 2565
นางสาวทยาภรณ์ ศรีสังข์  ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 2  นำคณะนักลงทุนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ร่วมกิจกรรมชักจูงการลงทุนในประเทศเพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายแก่ผู้ประกอบการไทย ระหว่างวันที่  6-9 กันยายน 2565 เส้นทางจังหวัดนครราชสีมา-จังหวัดขอนแก่น-จังหวัดหนองคาย-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว - จังหวัดอุดรธานี - จังหวัดนครราชสีมา เพื่อสร้างเครือข่ายการลงทุน และเปิดโอกาสในการหาช่องทางเพื่อการต่อยอดการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของสำนักงาน    

       ในวันที่ 6 กันยายน 2565   ได้นำคณะนักลงทุนเยี่ยมชมพร้อมรับฟังการบรรยายสรุป บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน)โดยมีคุณสุรเดช  ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการบริษัท  ให้การต้อนรับคณะ ซึ่งบริษัทมีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยฝีมือคนไทย อาทิ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม EV รถโดยสารปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า รถไฟฟ้ารางเบา รถแท็กซี่ไฟฟ้า  สถานีบริการประจุไฟฟ้า สำหรับรถ(Charger Station)   รถไฟฟ้ารางเบา​ เป็นโครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบโดยใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศไทย เพื่อต่อยอดสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมนับเป็นที่แรกในประเทศไทย และรับฟังการบรรยายแนวคิดในการดำเนินธุรกิจการพัฒนาเมืองในด้านต่างๆของ Smart City  การพัฒนาเมืองและการวางแผนการขนส่งด้วยระบบรางและการขนส่งมวลชนรองของจังหวัดขอนแก่น        

       ในวันที่ 7 กันยายน 2565  ทางคณะได้เดินทางเข้าร่วมสัมมนา“การเชื่อมต่อรถไฟไทย-ลาว-จีน : โอกาส ความท้าทายและการปรับตัวของธุรกิจไทย” ณโรงแรมรอยัล นาคาราและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ หนองคาย  จัดโดยศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3 (ขอนแก่น) โดยมีนายมนต์สิทธิ์  ไพศาลธนวัฒน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวเปิดการสัมมนาและมีการบรรยายเรื่อง “แผนการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย - ลาว -จีน” (ผ่านระบบออนไลน์) โดยนายเรืองเดช มังกรเดชสกุล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมการขนส่งทางราง และการบรรยายเรื่อง “Laos Logistics Link and Thanaleng Dry Port ” ผ่านระบบออนไลน์ โดย Mr.Sakhone PHILANGAM Managing Director Thanaleng Dry Port  และ  Miss Viphalath JINNALARD Head of Investment Promotion Unit Vientiane Logistics Park (บรรยายในห้องสัมมนา)  และมีการเสวนาเรื่อง “มุมมองภาคเอกชนจากจังหวัดตามแนวระเบียง NeEC ต่อการเชื่อมโยงรถไฟ ไทย - ลาว - จีน” โดยรองประธานกรรมการหอการค้าไทย คุณสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย  คุณดวงใจ สุขเกษมสิน  ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น  ดร.ทวีสันต์ วิชัยวงษ์  ดำเนินรายการโดย นางสุภาดา เครือเนตร  ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3  ในภาคบ่ายมีการเปิดคลินิก ให้คำปรึกษาด้านการลงทุน  มีผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งสิ้น 100 ท่าน

        ในวันที่ 8 กันยายน 2565   นำคณะนักลงทุน เดินทางไปสำรวจเส้นทางโลจิสติกส์ การค้าและการคมนาคม โดยเส้นทางมอเตอร์เวย์สายใหม่ ทางด่วนนครเวียงจันทน์ - วังเวียง และสำรวจเส้นทางโลจิสติกส์ การค้าและการคมนาคม ระบบราง รถไฟความเร็ว ลาว-จีน เส้นทางวังเวียง-นครหลวงเวียงจันทน์ เป็นรถไฟความเร็วสูง วิ่งได้สูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  เดินทางสู่นครหลวงเวียงจันทน์ เส้นทางรถไฟลาว-จีน มีความยาวจากสถานีเมืองบ่อเต็นถึงสถานีนครหลวงเวียงจันทน์มีความยาว 417  กิโลเมตร  จากการที่คณะได้ไปศึกษาศักยภาพการลงทุนทางระบบรางแล้วนั้น จะเห็นได้ว่า ธุรกิจไทยจะสามารถออกไปลงทุนและขยายธุรกิจผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง ใน สปป. ลาว เพื่อขยายฐานการค้าในลาวและส่งออกไปยังจีนตอนใต้ เช่น สินค้า สุขภาพ สินค้าออร์แกนิก สินค้าเกษตรแปรรูป รวมไปถึงภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการบริหารจัดการโรงแรมเนื่องจากพื้นที่แขวงทางตอนเหนือของลาวที่ติดจีนมีศักยภาพ ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ และมีเขตเศรษฐกิจพิเศษของลาวตั้งอยู่เพื่อสร้างโอกาสและรับมือกับความท้าทายจากโครงการรถไฟจีน - ลาว ผู้ประกอบการไทยที่ต้องทำธุรกิจแข่งกับจีนจำเป็นต้องเปลี่ยนกลยุทธ์เน้นจุดขายที่การพัฒนาและเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ ลดขั้นตอนกระบวนการทางศุลกากรเพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจและขนส่งสินค้า เพื่อให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันและโอกาสทางการค้าการลงทุน   

        ในวันที่ 9 กันยายน 2565  (ช่วงเช้า)  นำคณะนักลงทุน เดินทางไปเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายโครงการนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี  โดยมีนางอรพิน   พิพัฒน์วิไลกุล รองประธานกรรมการ  บริษัท  เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด  และคุณรณกรณ์ที่ปรึกษาโครงการ  ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปว่า  นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี มุ่งมั่นที่จะมีส่วนสนับสนุนธุรกิจให้สามารถเติบโตต่อยอดธุรกิจและก้าวเดินไปได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคงโดยได้จัดสรรพื้นที่ SMEs ZONE และพัฒนาก่อสร้าง Micro Factory  เพื่อให้กลุ่ม SMEs เช่าประกอบกิจการ  ทางคณะได้ให้ความสนใจสอบถามรายละเอียด ในการเข้ามาประกอบการในนิคมฯ  อุดรธานี ซึ่งพร้อมเปิดดำเนินการเพื่อรองรับการลงทุนทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ”
        (ช่วงบ่าย)  นำคณะนักลงทุน เดินทางไปเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยาย บริษัท วี ที แหนมเนือง จำกัด จังหวัดอุดรธานี โดยมีนายคมสัน ศรีวงศา ผู้จัดการ ให้การต้อนรับคณะ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตพืช  (Plant Factory) มูลค่าลงทุน  94  ล้านบาท เพื่อเพาะปลูกผักโดยใช้เมล็ดพันธุ์ในประเทศ  ตามคำแนะนำของสำนักงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) โดยมีกำลังการผลิตปีละประมาณ 360 ตัน โดยโรงงานผลิตพืชของ วี ที แหนมเนืองแห่งนี้เป็นโครงการปลูกพืชผักคุณภาพ ไร้สารเคมีตกค้าง โดยปลูกในระบบปิดที่มีระบบควบคุมคุณภาพทั้งสภาพแวดล้อมด้านกายภาพ  เช่น ความเข้มของแสง อุณหภูมิ ความชื้น และสภาพ แวดล้อมทางชีวภาพ  เช่น  การปนเปื้อนของเชื้อโรคและแมลงจากน้ำและอากาศ และได้เยี่ยมชมในส่วนโรงงาน สายการผลิต และกระจายสินค้า ไลน์การผลิต รองรับการส่งออก และกระจายสินค้าไปทั่วประเทศและ  ต่างประเทศ  ปัจจุบันเปิดเป็นรูปแบบ คอมมูนิตี้มอลล์เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของภาคอีสาน    
 
  --------------------------------------------------------

"ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 2 (นครราชสีมา) 
0 44 384200
korat@boi.go.th
 http://Korat.boi.go.th
ไม่มีค่าใช้จ่ายในการติดต่อ