บีโอไอชู “SMART Visa” ดึงบุคลากรคุณภาพสูงเข้าไทย

17 สิงหาคม 2563

บีโอไอชู “SMART Visa” ดึงบุคลากรคุณภาพสูงเข้าไทย 

               ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตามนโยบาย “Thailand 4.0” พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S - Curve) ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม จึงจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มาช่วยสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ของประเทศ

               รัฐบาลไทยจึงให้ความสำคัญกับการดึงบุคลากรที่มีทักษะและเป็นผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาทำงาน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เติบโตอย่างเข้มแข็งในประเทศไทย รัฐบาลได้มอบหมายให้บีโอไอเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับ SMART Visa และจัดตั้งหน่วย SMART Visa Unit ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกด้านนี้ ณ ศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน (OSOS)

               SMART Visa เป็นวีซ่าประเภทพิเศษที่ให้สิทธิพิเศษแก่ชาวต่างชาติที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้บริหารระดับสูง นักลงทุน และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ สตาร์ทอัพ ซึ่งได้เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2561 เพื่อดึงดูดบุคลากรทักษะสูงและนักลงทุนที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานหรือลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม และกิจการเป้าหมายของประเทศ ซึ่งได้แก่

  • อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive)

  • อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics)

  • อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism)

  • อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology)

  • อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Food for the Future)

  • อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Automation and Robotics)

  • อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)

  • อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals)

  • อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital)

  • อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)

  • การบริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution) 

  • การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Human Resource Development in Science and Technology)

  • การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน (Environmental Management and Renewable Energy)

               สำหรับประเภทของสมาร์ทวีซ่า มี 5 รูปแบบ สำหรับชาวต่างชาติ 5 กลุ่ม ได้แก่ SMART “T” ผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง (Talents / Highly-skilled Experts) SMART “I” นักลงทุน (Investors) SMART “E” ผู้บริหารระดับสูง (Senior executives) SMART “S” ผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup entrepreneurs) และ SMART “O” คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ของผู้ได้รับสิทธิ SMART Visa

               ทั้งนี้ ผู้ยื่นขอสมาร์ทวีซ่าแต่ละประเภท ต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้น ดังนี้

               ►SMART “Tatents” ต้องมีเงินได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 100,000 บาทต่อเดือน หรือเทียบเท่า กรณีเป็นธุรกิจทั่วไป แต่ในกรณีที่เป็นบุคคลซึ่งมีสัญญาจ้างโดยวิสหากิจเริ่มต้นหรือผู้เชี่ยวชาญที่เกษียณอายุแล้ว ต้องมีเงินได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 50,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานในสถาบันภาครัฐ สถาบันการศึกษาและการระงับข้อพิพาททางเลือก ไม่กำหนดเงินได้ขั้นต่ำ

               ►SMART “Investors” มี 2 กรณี กรณีแรกกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท ในนามบุคคลในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ หรือในบริษัทเงินร่วมลงทุน (Venture Capital Company) ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐ กรณีที่สอง ลงทุนโดยตรงในนามบุคคล ไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาทในวิสาหกิจเริ่มต้นหรือโครงการบ่มเพาะ (Incubation) หรือโครงการเร่งการเติบโต (Accelerator)

               ►SMART “Executives” ต้องมีเงินได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 200,000 บาทต่อเดือน หรือเทียบเท่า คุณวุฒิระดับปริญญาตรีขึ้นไป และมีประสบการณ์ทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 10 ปี

               ►SMART “Startup” มี 3 กรณี (1) กรณีการจัดตั้งวิสาหกิจเริ่มต้นซึ่งใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นในลักษณะ Startup Camp ที่รับรองโดยหน่วยงานของรัฐ (2) กรณีเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะ (Incubation) หรือโครงการเร่งการเติบโต (Accelerator) หรือโครงการอื่นในลักษณะเดียวกัน ซึ่งได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นต้น และ (3) กรณีตั้งกิจการในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองว่าเป็นธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นต้น

               สำหรับผู้ถือสมาร์ทวีซ่า จะได้รับสิทธิพิเศษหลายด้านด้วยกัน เช่น ได้รับสิทธิพำนักในประเทศไทยสูงสุดเป็นระยะเวลา 4 ปี รายงานตัวเพียงปีละ 1 ครั้ง (จากปกติต้องรายงานตัวทุก 90 วัน) สามารถเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง คู่สมรสและบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จะได้รับสิทธิการพำนักในประเทศไทยเช่นเดียวกับผู้ได้รับสิทธิหลัก เป็นต้น

               ทั้งนี้ ชาวต่างชาติที่พำนักอยู่นอกราชอาณาจักรสามารถยื่นขอสมาร์ทวีซ่าได้ รวมถึงชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศไทยสามารถขอเปลี่ยนวีซ่าทั่วไปเป็นสมาร์ทวีซ่าได้ หากมีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ตาม ที่กำหนด โดยบีโอไอเปิดให้ชาวต่างชาติยื่นขอสมาร์ทวีซ่าในรูปแบบออนไลน์ (ระบบ SMART Visa Online) http://smart-visa.boi.go.th จะทราบผลภายใน 30 วันทำการ นับแต่วันที่ SMART Visa Unit ได้รับเอกสารฉบับสมบูรณ์ ติดต่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ OSOS อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 18 โทรศัพท์ 0 2209 1100 อีเมล osos@boi.go.th

               บีโอไอให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนที่มีคุณค่า เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานความรู้ และนวัตกรรม การให้สิทธิประโยชน์แก่บุคลากรที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีขั้นสูงผ่าน SMART Visa เป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จะช่วยยกระดับประเทศเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

ที่มา: https://www.boi.go.th/index.php?page=boi_event_detail&topic_id=125609&module=news