ภาพกิจกรรม ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 2 (นครราชสีมา) นำคณะนักลงทุนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างร่วมกิจกรรมชักจูงการลงทุน ในประเทศเพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายแก่ผู้ประกอบการไทย ระหว่างวันที่ 6 - 9 กันยายน 2565

19 กันยายน 2565
      นางสาวทยาภรณ์ ศรีสังข์  ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 2  นำคณะนักลงทุนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ร่วมกิจกรรมชักจูงการลงทุนในประเทศเพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายแก่ผู้ประกอบการไทย ระหว่างวันที่  6-9 กันยายน 2565 เส้นทางจังหวัดนครราชสีมา-จังหวัดขอนแก่น-จังหวัดหนองคาย-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว - จังหวัดอุดรธานี - จังหวัดนครราชสีมา เพื่อสร้างเครือข่ายการลงทุน และเปิดโอกาสในการหาช่องทางเพื่อการต่อยอดการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของสำนักงาน    

       ในวันที่ 6 กันยายน 2565   ได้นำคณะนักลงทุนเยี่ยมชมพร้อมรับฟังการบรรยายสรุป บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน)โดยมีคุณสุรเดช  ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการบริษัท  ให้การต้อนรับคณะ ซึ่งบริษัทมีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยฝีมือคนไทย อาทิ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม EV รถโดยสารปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า รถไฟฟ้ารางเบา รถแท็กซี่ไฟฟ้า  สถานีบริการประจุไฟฟ้า สำหรับรถ(Charger Station)   รถไฟฟ้ารางเบา​ เป็นโครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบโดยใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศไทย เพื่อต่อยอดสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมนับเป็นที่แรกในประเทศไทย และรับฟังการบรรยายแนวคิดในการดำเนินธุรกิจการพัฒนาเมืองในด้านต่างๆของ Smart City  การพัฒนาเมืองและการวางแผนการขนส่งด้วยระบบรางและการขนส่งมวลชนรองของจังหวัดขอนแก่น        

       ในวันที่ 7 กันยายน 2565  ทางคณะได้เดินทางเข้าร่วมสัมมนา“การเชื่อมต่อรถไฟไทย-ลาว-จีน : โอกาส ความท้าทายและการปรับตัวของธุรกิจไทย” ณโรงแรมรอยัล นาคาราและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ หนองคาย  จัดโดยศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3 (ขอนแก่น) โดยมีนายมนต์สิทธิ์  ไพศาลธนวัฒน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวเปิดการสัมมนาและมีการบรรยายเรื่อง “แผนการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย - ลาว -จีน” (ผ่านระบบออนไลน์) โดยนายเรืองเดช มังกรเดชสกุล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมการขนส่งทางราง และการบรรยายเรื่อง “Laos Logistics Link and Thanaleng Dry Port ” ผ่านระบบออนไลน์ โดย Mr.Sakhone PHILANGAM Managing Director Thanaleng Dry Port  และ  Miss Viphalath JINNALARD Head of Investment Promotion Unit Vientiane Logistics Park (บรรยายในห้องสัมมนา)  และมีการเสวนาเรื่อง “มุมมองภาคเอกชนจากจังหวัดตามแนวระเบียง NeEC ต่อการเชื่อมโยงรถไฟ ไทย - ลาว - จีน” โดยรองประธานกรรมการหอการค้าไทย คุณสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย  คุณดวงใจ สุขเกษมสิน  ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น  ดร.ทวีสันต์ วิชัยวงษ์  ดำเนินรายการโดย นางสุภาดา เครือเนตร  ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3  ในภาคบ่ายมีการเปิดคลินิก ให้คำปรึกษาด้านการลงทุน  มีผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งสิ้น 100 ท่าน

        ในวันที่ 8 กันยายน 2565   นำคณะนักลงทุน เดินทางไปสำรวจเส้นทางโลจิสติกส์ การค้าและการคมนาคม โดยเส้นทางมอเตอร์เวย์สายใหม่ ทางด่วนนครเวียงจันทน์ - วังเวียง และสำรวจเส้นทางโลจิสติกส์ การค้าและการคมนาคม ระบบราง รถไฟความเร็ว ลาว-จีน เส้นทางวังเวียง-นครหลวงเวียงจันทน์ เป็นรถไฟความเร็วสูง วิ่งได้สูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  เดินทางสู่นครหลวงเวียงจันทน์ เส้นทางรถไฟลาว-จีน มีความยาวจากสถานีเมืองบ่อเต็นถึงสถานีนครหลวงเวียงจันทน์มีความยาว 417  กิโลเมตร  จากการที่คณะได้ไปศึกษาศักยภาพการลงทุนทางระบบรางแล้วนั้น จะเห็นได้ว่า ธุรกิจไทยจะสามารถออกไปลงทุนและขยายธุรกิจผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง ใน สปป. ลาว เพื่อขยายฐานการค้าในลาวและส่งออกไปยังจีนตอนใต้ เช่น สินค้า สุขภาพ สินค้าออร์แกนิก สินค้าเกษตรแปรรูป รวมไปถึงภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการบริหารจัดการโรงแรมเนื่องจากพื้นที่แขวงทางตอนเหนือของลาวที่ติดจีนมีศักยภาพ ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ และมีเขตเศรษฐกิจพิเศษของลาวตั้งอยู่เพื่อสร้างโอกาสและรับมือกับความท้าทายจากโครงการรถไฟจีน - ลาว ผู้ประกอบการไทยที่ต้องทำธุรกิจแข่งกับจีนจำเป็นต้องเปลี่ยนกลยุทธ์เน้นจุดขายที่การพัฒนาและเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ ลดขั้นตอนกระบวนการทางศุลกากรเพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจและขนส่งสินค้า เพื่อให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันและโอกาสทางการค้าการลงทุน   

        ในวันที่ 9 กันยายน 2565  (ช่วงเช้า)  นำคณะนักลงทุน เดินทางไปเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายโครงการนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี โดยมีนางอรพิน พิพัฒน์วิไลกุล รองประธานกรรมการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด  และคุณรณกรณ์ ที่ปรึกษาโครงการ ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปว่านิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี มุ่งมั่นที่จะมีส่วนสนับสนุนธุรกิจให้สามารถเติบโตต่อยอดธุรกิจและก้าวเดินไปได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคงโดยได้จัดสรรพื้นที่ SMEs ZONE และพัฒนาก่อสร้าง Micro Factory  เพื่อให้กลุ่ม SMEs เช่าประกอบกิจการ  ทางคณะได้ให้ความสนใจสอบถามรายละเอียด ในการเข้ามาประกอบการในนิคมฯ อุดรธานี ซึ่งพร้อมเปิดดำเนินการเพื่อรองรับการลงทุนทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ”
        (ช่วงบ่าย)  นำคณะนักลงทุน เดินทางไปเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยาย บริษัท วี ที แหนมเนือง จำกัด จังหวัดอุดรธานี โดยมีนายคมสัน ศรีวงศา ผู้จัดการ ให้การต้อนรับคณะ
ซึ่งเป็นโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) มูลค่าลงทุน  94  ล้านบาท เพื่อเพาะปลูกผักโดยใช้เมล็ดพันธุ์ในประเทศ ตามคำแนะนำของสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) โดยมีกำลังการผลิตปีละประมาณ 360 ตัน โดยโรงงานผลิตพืชของ วี ที แหนมเนืองแห่งนี้เป็นโครงการปลูกพืชผักคุณภาพ ไร้สารเคมีตกค้าง โดยปลูกในระบบปิดที่มีระบบควบคุมคุณภาพทั้งสภาพแวดล้อมด้านกายภาพ  เช่น ความเข้มของแสง อุณหภูมิ ความชื้น และสภาพแวดล้อมทางชีวภาพ  เช่น  การปนเปื้อนของเชื้อโรคและแมลงจากน้ำและอากาศ และได้เยี่ยมชมในส่วนโรงงาน สายการผลิต และกระจายสินค้า ไลน์การผลิต รองรับการส่งออก และกระจายสินค้า
ไปทั่วประเทศและต่างประเทศ  ปัจจุบันเปิดเป็นรูปแบบ คอมมูนิตี้มอลล์เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของภาคอีสาน    
 
  ---------------------------------------------------------------------------------------------------

"ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 2 (นครราชสีมา) 
0 44 384200
korat@boi.go.th
 http://Korat.boi.go.th
ไม่มีค่าใช้จ่ายในการติดต่อ